ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ
ประกาศเมื่อ 09 มีนาคม 2565 เวลา 10.29 น. เปิดอ่าน 193 ครั้ง พิมพ์

ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ โครงการศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริ คือโครงการในพระราชดำริสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อเป็นที่ระลึกในวาระครบรอบ 100 ปี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าจักรพันธ์เพ็ญศิริ ด้วยทรงเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนาและส่งเสริมด้านการเกษตรของประเทศไทย ทรงวางรากฐานเกษตรกรรมแบบดั้งเดิมพัฒนาสู่เกษตรกรรมแบบยั่งยืน และทรงให้ความสำคัญกับเรื่องของเมล็ดพันธุ์ มักจะรับสั่งกับผู้ปฏิบัติงานอยู่เสมอว่า “พันธุ์พืชทุกพันธุ์ เมล็ดพันธุ์ทุกเมล็ด เป็นของพระเจ้าอยู่หัว ทำให้ดีที่สุด”โดยโครงการแห่งนี้มีวัตถุประสงค์เพื่อผลิตเมล็ดพันธุ์ผักสะสมสำรองไว้ เพื่อเป็นเมล็ดพันธุ์พระราชทานแก่ราษฎรทั่วไป และราษฎรในพื้นที่ประสบภัยพิบัติ นับเป็นการเตรียมพร้อมรับสถานการณ์ที่ไม่อาจคาดการณ์ได้ล่วงหน้า โดยสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงมีพระมหากรุณาธิคุณเสด็จพระราชดำเนินทรงเปิดศูนย์ฯ เมื่อวันที่ 20 กรกฎาคม 2552 การดำเนินงาน สำนักงานมูลนิธิชัยพัฒนาและมูลนิธิแม่ฟ้าหลวง ได้พิจารณาแล้วมีความเห็นร่วมกันว่า สมควรสร้างศูนย์ดังกล่าวในบริเวณที่ดินราชพัสดุ ทะเบียนที่ อชร 1 อำเภอแม่สาย จังหวัดเชียงราย พื้นที่ 135 ไร่ 1 งาน 10.3 ตารางวา ซึ่งกรมธนารักษ์ได้น้อมเกล้าฯ ถวายสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี เพื่อทรงใช้ประโยชน์ในกิจกรรมของมูลนิธิชัยพัฒนาในระยะแรก สมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา เข้าร่วมดำเนินกิจกรรมด้านพืชกับศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ มูลนิธิชัยพัฒนา มูลนิธิแม่ฟ้าหลวง และมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา ได้ร่วมกันรวบรวมพันธุ์พืชอาหารพื้นบ้าน เพื่อที่จะคัดเลือกพันธุ์ที่ดีเผยแพร่แก่เกษตรกร เพื่อให้เกษตรกรได้มีพันธุ์พืชที่มีคุณภาพดีพอสมควร มีความต้านทานโรคดีพอสมควร ให้ผลผลิตดีพอสมควร เพื่อให้เกษตรกรนำพันธุ์ไปขยาย หรือปลูกเองได้ในอนาคต ร้านอาหารจันกะผัก ร้านจันกะผัก เป็นร้านที่ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชจักรพันธ์เพ็ญศิริตั้งขึ้น เพื่อจำหน่ายพืชผักที่เหลือจากการทดสอบและพัฒนาพันธุ์ รวมถึงขายอาหารซึ่งใช้พืชผักที่ศูนย์พัฒนาพันธุ์พืชฯ ผลิตเอง ขายกาแฟและของที่ระลึก ขณะเดียวกันยังมีแผนงานในการส่งเสริมด้านการตลาดแก่ผลิตภัณฑ์พื้นบ้านของ ชุมชนท้องถิ่น โดยจะนำผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการพัฒนามาจำหน่ายภายในร้าน